Skip to main content

ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน เป็นรายการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2459

พ.ศ. 2459 เริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประจำทุกปี ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ถ้วยใหญ่" (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ถ้วยพระราชทาน ก) โดยสโมสรกรมมหรสพ ชนะเลิศเป็นทีมแรกสุด และ "ถ้วยน้อย" (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ถ้วยพระราชทาน ข) ซึ่งสโมสรทหารบกราชวัลลภ ชนะเลิศเป็นทีมแรกสุด

จากนั้นในปี พ.ศ. 2504 สมาคมฯ ก่อตั้งการแข่งขันเพิ่มเติมเป็น "ถ้วยพระราชทาน ค" และ "ถ้วยพระราชทาน ง" เพื่อรองรับระบบการแข่งขันเป็นระดับชั้น (Division) ตามรูปแบบของสมาคมฟุตบอลอังกฤษในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 สมาคมฯ เปลี่ยนแปลงระบบการแข่งขันฟุตบอล จากวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศ มาเป็นรูปแบบอาชีพ จึงปรับปรุงให้ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ก เป็นการแข่งขันระหว่างทีมชนะเลิศ กับรองชนะเลิศของไทยพรีเมียร์ลีก และตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จึงปรับปรุงอีกครั้ง ให้เป็นการแข่งขันก่อนเปิดฤดูกาล ระหว่างทีมชนะเลิศไทยพรีเมียร์ลีก พบกับทีมชนะเลิศไทยเอฟเอคัพ ส่วนถ้วยพระราชทาน ข, ค, และ ง เป็นการแข่งขันประจำฤดูกาล ในระดับชั้นรองลงตามลำดับ

ทีมสโมสรฟุตบอล ที่ต้องการเข้าร่วมการแข่งขันในระบบของ ส.ฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องทำการสมัครสมาชิกและลงทะเบียนเข้าแข่งขัน ในฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ง เป็นลำดับแรก จากนั้นต้องทำผลงาน เพื่อเลื่อนแข่งขันในลำดับที่สูงขึ้นต่อไป

จนถึงปี พ.ศ. 2559 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีนโยบายปรับปรุงรูปแบบกรแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศ จึงได้ดำเนินการยุบรวมการแข่งขัน ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข, ค และ ง ไปเป็นการแข่งขันฟุตบอลในระดับ ไทยลีกดิวิชั่น 3

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ก
  • ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข
  • ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ค
  • ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ง

อ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ - Football Thai History